นโยบายและจุดเน้นการดําเนินงาน สํานักงาน กศน. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

 กศน. อำเภอคำเขื่อนแก้ว   17-06-2565 
นโยบายและจุดเน้นการดําเนินงาน สํานักงาน กศน. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕  2198


16 มิ.ย. 2022 by บัลลังก์ โรหิตเสถียร, posted in สป.

สํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ประกาศนโยบายและจุดเน้นการดําเนินงาน สํานักงาน กศน. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อเผยแพร่ใหักับบุคลากรในหน่วยงาน และใช้เป็นกรอบ แนวทางในการขับเคลื่อนการดําเนินงาน และการติดตามผลการดําเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ อย่างมีประสิทธิภาพ

ประกาศสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
เรื่อง นโยบายและจุดเน้นการดําเนินงาน สํานักงาน กศน. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

ด้วยสํานักงาน กศน. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตระหนักถึงความสําคัญของการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจหลักตามแผนพัฒนาประเทศ และนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่คํานึงถึงหลักการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องหลักธรรมาภิบาล หลักการกระจายอํานาจ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การมุ่งเน้น ผลสัมฤทธิ์ การปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร และการสร้างบรรยากาศในการทํางานและการเรียนรู้ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรด้านการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ อันจะนําไปสู่การสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การยกระดับคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสําหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ สํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจึงประกาศนโยบายและจุดเน้นการดําเนินงาน สํานักงาน กศน. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ดังนี้

๑. หลักการ

กศน. เพื่อประชาชน “กศน. ก้าวใหม่ : ก้าวแห่งคุณภาพ”

๒. ภารกิจสําคัญตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๒.๑ โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ติดตามและรายงานข้อมูลประชากรวัยเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมทั้งดําเนินการช่วยเหลือ และสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทต่อไป
๒.๒ โครงการ “กศน. ปักหมุด” สํารวจ ติดตาม ค้นหา และรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย คนพิการ พร้อมนํากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยวางแผนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการ ของคนพิการอย่างแท้จริง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม อย่างมีคุณภาพ
๒.๓ โครงการสถานศึกษาปลอดภัย นําระบบมาตรฐานความปลอดภัย MOE Safety Center ผ่านศูนย์ความปลอดภัย สํานักงาน กศน. มาใช้แก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยของนักศึกษา ครู และบุคลากร กศน.
๒.๔ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

๓. จุดเน้นการดําเนินงาน สํานักงาน กศน. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

๓.๑ ด้านการจัดการเรียนรู้คุณภาพ
๑) น้อมนําพระบรมราโชบายสู่การปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดําเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริทุกโครงการ หรือโครงการอันเกี่ยวเนื่องจากราชวงศ์
๒) ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ที่สนองตอบยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๓) ส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การเรียนรู้ที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม สร้างวินัย จิตสาธารณะ และอุดมการณ์ ความยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลข่าวสาร และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Social Media) รวมถึงการใช้กระบวนการจิตอาสา กศน. ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
๔) ปรับปรุงหลักสูตรทุกระดับทุกประเภท ให้สอดรับกับการพัฒนาคน ทิศทางการพัฒนา ประเทศ สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง ความต้องการและความหลากหลายของผู้เรียน/ผู้รับบริการ รวมถึง ปรับลดความหลากหลายและความซ้ําซ้อนของหลักสูตร เช่น หลักสูตรการศึกษาสําหรับกลุ่มเป้าหมายบนพื้นที่สูง พื้นที่พิเศษและพื้นที่ชายแดน รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์
๕) ปรับระบบทดสอบ วัดผล และประเมินผล โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการประเมินผลการเรียนรู้ได้ตามความต้องการ เพื่อการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ให้ความสําคัญกับการเทียบระดับการศึกษา และการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ พัฒนาระบบการประเมิน สมรรถนะผู้เรียนให้ตอบโจทย์การประเมินในระดับประเทศและระดับสากล เช่น การประเมินสมรรถภาพผู้ใหญ่ ตลอดจนกระจายอํานาจไปยังพื้นที่ในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
๖) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการจัดหลักสูตรการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ด้วยตนเองครบวงจร ตั้งแต่การลงทะเบียนจนการประเมินผลเมื่อจบหลักสูตร ทั้งการศึกษานอกระบบระดับการศึกษา ขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการเรียนรู้ให้กับ กลุ่มเป้าหมายที่สามารถเรียนรู้ได้สะดวก และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน
๗) พัฒนา Digital Learning Platform แพลตฟอร์มการเรียนรู้ของสํานักงาน กศน. ตลอดจนพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และให้มีคลังสื่อการเรียนรู้ที่เป็นสื่อที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ง่ายต่อการสืบค้นและนําไปใช้ในการจัดการเรียนรู้
๘) เร่งดําเนินการเรื่อง Academic Credit-bank System ในการสะสมและเทียบโอน หน่วยกิตเพื่อการสร้างโอกาสในการศึกษา
๙) พัฒนาระบบนิเทศการศึกษา การกํากับ ติดตาม ทั้งในระบบ On-Site และ Online รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาการดําเนินงานการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

๓.๒ ด้านการสร้างสมรรถนะและทักษะคุณภาพ
๑) ส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ที่เน้นการพัฒนาทักษะที่จําเป็นสําหรับแต่ละช่วงวัย และการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายและบริบทพื้นที่
๒) พัฒนาหลักสูตรอาชีพระยะสั้น ที่เน้น New skill Upskill และ Reskill ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ความต้องการของตลาดแรงงาน และกลุ่มอาชีพใหม่ที่รองรับ Disruptive Technology
๓) ยกระดับผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการจากโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ที่เน้น “ส่งเสริม ความรู้ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาด ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์และช่องทาง การจําหน่าย
๔) ส่งเสริมการจัดการศึกษาของผู้สูงอายุ เพื่อให้เป็น Active Ageing Workforce และมี Life skill ในการดำรงชีวิตที่เหมาะกับช่วงวัย
๕) ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น ผู้พิการ ออทิสติก เด็กเร่ร่อน และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ
๖) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลและทักษะด้านภาษา ให้กับบุคลากร กศน.และผู้เรียน เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ
๗) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้เรียน กศน.
๘) สร้างอาสาสมัคร กศน. เพื่อเป็นเครือข่ายในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในชุมชน
๙) ส่งเสริมการสร้างและพัฒนานวัตกรรมของบุคลากร กศน. รวมทั้งรวบรวมและเผยแพร่เพื่อให้หน่วยงาน / สถานศึกษา นำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

๓.๓ ด้านองค์กร สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้คุณภาพ
๑) ทบทวนบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน สถานศึกษา เช่น สถาบัน กศน.ภาค สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร สถานศึกษาขึ้นตรงสังกัดส่วนกลาง กลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัด ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในพื้นที่
๒) ยกระดับมาตรฐาน กศน.ตำบล และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สำคัญของชุมชน
๓) ปรับรูปแบบกิจกรรมในห้องสมุดประชาชน ที่เน้น Library Delivery เพื่อเพิ่มอัตราการอ่านและการรู้หนังสือของประชาชน
๔) ให้บริการวิทยาศาสตร์เชิงรุก Science@home โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือนำวิทยาศาสตร์สู่ชีวิตประจำวันในทุกครอบครัว
๕) ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ในรูปแบบ Public Learning Space Co-Learning Space เพื่อการสร้างนิเวศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม
๖) ยกระดับและพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน ให้เป็นสถาบันพัฒนาอาชีพระดับภาค
๗) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม กศน. จังหวัดให้มีประสิทธิภาพ

๓.๔ ด้านการบริหารจัดการคุณภาพ
๑) ขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนทบทวนภารกิจ บทบาทโครงสร้างของหน่วยงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย
๒) ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนรู้ เช่น การปรับหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการจัดหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง
๓) ปรับปรุงแผนอัตรากำลัง รวมทั้งกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการนำคนเข้าสู่ตำแหน่ง การย้าย โอน และการเลื่อนระดับ
๔) ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ ให้มีความรู้และทักษะตามมาตรฐานตำแหน่งให้ตรงกับสายงาน และทักษะที่จำเป็นในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้
๕) ปรับปรุงระบบการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษา ให้มีความครอบคลุม เหมาะสม เช่น การปรับค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของผู้พิการ เด็กปฐมวัย
๖) ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น ข้อมูลการรายงานผลการดำเนินงาน ข้อมูลเด็กตกหล่นจากการศึกษาในระบบ เด็กเร่ร่อน ผู้พิการ
๗) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการอย่างเต็มรูปแบบ
๘) ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐสู่ระบบราชการ ๔.๐ และการประเมินคุณภาพและความโปร่งใสการดำเนินงานของภาครัฐ (ITA)
๙) เสริมสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับข้าราชการและบุคลากรทุกประเภทในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การประกาศเกียรติคุณ การมอบโล่ / วุฒิบัตร
๑๐) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความพร้อมในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชน

ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕

นายวัลลพ สงวนนาม
เลขาธิการ กศน

ที่มา  https://moe360.blog/2022/06/16/policy-and-operational-focus-nfe/

ภาพประกอบ