jiwajj@gmail.com

0982413669

 

ครูคำพูน บุญทวี

 กศน. อำเภอทรายมูล   04-12-2566 
ครูคำพูน บุญทวี  2036


ครูคำพูน บุญทวี

นายคำพูน บุญทวี (26 มิถุนายน 2471 - 4 เมษายน 2546) นักเขียนสารคดี เรื่องสั้น และนวนิยายเกี่ยวกับชีวิตของชาวไทอีสาน และชีวิตคนในคุก ได้รับรางวัลซีไรต์เป็นคนแรกของไทย เมื่อ พ.ศ. 2522 จากนวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน และได้รับยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2544

คำพูน บุญทวี เดิมชื่อ คูน (ชื่อละครตัวเอกในนิยาย ลูกอีสาน) เกิดเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ที่ บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมด 8 คนของ นายสนิท และนางลุน บุญทวี

การศึกษาในวัยเยาว์

ในวัยเด็กของท่าน เนื่องจากพ่อของท่านมีอาชีพเป็นครูในหมู่บ้าน จึงทำให้มีโอกาสดีกว่าเพื่อนๆ ในเรื่องการเรียน ท่านเริ่มเรียนถึงชั้น ป. 4 ที่โรงเรียนบ้านทรายมูล จากนั้นจึงเข้าเรียนต่อชั้น ม. 2 ที่โรงเรียนสุรเวชวิทยาลัย อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี แล้วจึงมาเรียนต่อชั้น ม. 4 จากโรงเรียนอรุณศึกษา อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี แล้วจึงมาเรียนต่อที่โรงเรียนสายปรีชาบัณฑิต อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี จนจบชั้น ม. 6 ในปี 2488 ซึ่งในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นการศึกษาระดับสูงสุดระดับอำเภอ

เมื่อจบการศึกษาชั้น ม. 6 จากโรงเรียนสายปรีชาบัณฑิต ที่อำเภอยโสธร คุณคำพูน บุญทวี จึงกลับมาอยู่ที่บ้านทรายมูล พร้อมกับชักชวนเพื่อนๆ ในหมู่บ้านตั้งคณะหมอลำและรำวง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จด้านรายได้ จึงเข้ามาหางานที่กรุงเทพฯ

เส้นทางสู่อาชีพครู ขายแรงงาน ผู้คุมในคุก สู่นักเขียน

จากลุ่มน้ำชีเมืองยโสธร สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ที่หนุ่มสาวบ้านทุ่งหลายคนใฝ่หา คุณคำพูน บุญทวีเริ่มต้นทำงานเป็นครู สอนอยู่ที่โรงเรียนสัตบุตรบำรุง อยู่หลายปี แต่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นครูประจำจึงตัดสินใจลาออก แล้วจึงเข้าทำงานหลายแห่งหลายอาชีพ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต ทั้งกรรมกรขายแรงงาน ถีบสามล้อ ขายผลไม้ เลี้ยงม้าแข่ง และรีดนมวัว ผ่านประสบการณ์ชีวิตอย่างโชกโชน แต่ก็ไม่ย้อท้อสำหรับสายเลือดแห่งนักสู้จากบ้านทรายมูล เมืองยโสธร

kampoon boontawee 03

จากประสบการณ์ ทำงานเป็นครูที่โรงเรียนสัตบุตรบำรุงมาหลายปี จึงทำให้ คุณคำพูน บุญทวี คิดว่า ตนเองน่าจะเหมาะกับอาชีพครูมากว่าอาชีพอื่น ในปี 2490 จึงตัดสินใจสมัครสอบเป็นครูประชาบาลที่ภาคใต้ โดยได้รับการบรรจุครั้งแรกที่ โรงเรียนบ้านควันขัน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล สอบได้วุฒิครูพิเศษมูล (ครู พ.) โดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จากนั้นในปี 2492 จึงได้ย้ายมารับตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนสุไหงมูโซะ อำเภอระงู จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะ และในตอนนั้นได้แต่งงานกับ นางประพิศ ณ พัทลุง มีบุตรด้วยกัน 6 คน ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ครอบครัวไม่สะดวก อีกทั้งทำเรื่องย้ายกลับภาคอีสานไม่ได้ จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูในปี 2497 กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาที่จังหวัดพัทลุง

เมื่อมาอยู่กับภรรยาที่จังหวัดพัทลุง ท่านจึงได้สมัครเป็นครูสอนภาษาจีนที่ โรงเรียนเอกชนขื่อจุ่งฮั้ว ในตำแหน่งครูใหญ่ ภายหลังจึงลาออกจากการเป็นครูเพราะประสบปัญหาด้านการเงิน จึงเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่เดินทางกลับจังหวัดพัทลุง

kampoon boontawee 04

กลับมาอยู่ที่จังหวัดพัทลุงได้สมัครเข้าทำงานเป็น "ผู้คุม" ที่เรือนจำจังหวัดพัทลุง และสอนหนังสือนักโทษเป็นเวลา 9 ปี ทำให้ชีวิตในครอบครัวเริ่มดีขึ้น และมีโอกาสสอบเข้าเรียนเป็น นักเรียนราชฑัณฑ์ ที่เรือนจำบางขวาง กรุงเทพฯ ได้ แต่ยังเรียนไม่จบหลักสูตร จึงขอย้ายกลับมาทำงานที่เรือนจำพัทลุงเหมือนเดิม เนื่องจากภรรยาป่วยหนัก

คุณคำพูน บุญทวี กลับมาทำงานที่เรือนจำพัทลุงอยู่ระยะหนึ่ง จึงสอบบรรจุเป็นข้าราชการสามัญของกรมราชฑัณฑ์ได้ แล้วย้ายไปประจำอยู่ที่เรือนจำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 4 ปี แล้วจึงย้ายไปประจำที่เรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และย้ายไปประจำอยู่ที่เรือนจำจังหวัดระนองในเวลาต่อมา

คุณคำพูน บุญทวี เริ่มงานเขียนครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เสียงตานี เป็นเรื่องตลกขบขัน เมื่อครั้งทำงานอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นเมื่อย้ายไปอยู่ที่จังหวัดระนอง จึงมีแนวความคิดอยากจะเป็นนักเขียน โดยมีแรงบันดาลใจจากการเขียนงาน เพราะภรรยาป่วยหนักไม่มีเงินรักษา เกิดความกลุ้มหนักต้องหันหน้าเข้าอบายมุข ติดเหล้า ติดการพนัน ยิ่งทำให้ครอบครัวย่ำแย่ลงไป ภายหลังจึงเลิกยุ่งอบายมุขทั้งปวง หันหน้าเข้าห้องสมุด มุ่งหน้าอ่านเรื่องสั้น นวนิยาย วรรณคดี เรื่องแปล เมื่ออ่านมากๆ จึงมีแนวความคิดอยากจะเป็นนักเขียน

kampoon boontawee 05

เขาเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 เมื่อครั้งยังเป็นผู้คุม ตอนนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว เขาจึงมุมานะอ่านหนังสือ และเขียนเรื่องสั้น เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขาเขียน คือ "ความรักในเหวลึก" ส่งไปที่นิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่ง อาจินต์ ปัญจพรรค์ เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "นิทานลูกทุ่ง" พร้อมทั้งสนับสนุนให้เขาเขียนหนังสือต่อไป เขาจึงเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ มนุษย์ 100 คุก

พอเขียนหนังสือได้สักระยะหนึ่งรู้สึกจะหมดเรื่องเขียน อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้แนะนำให้อ่าน "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ผลงานการแปลของ “สุคนธรส” มาอ่านเพื่อเป็นแนวทางในการเขียนเรื่องราววิถีชีวิตของชาวอีสาน จนเป็นที่มาของเรื่องราวชีวิตชาวอีสานในอดีตชื่อ "ชีวิตของลูกผู้ชายชื่อคำพูน บุญทวี" แต่เมื่อ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้อ่านต้นฉบับเลยแนะนำว่าน่าจะใช้ชื่อว่า "ลูกอีสาน" เพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนอีสาน และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” ระหว่างปี 2518 – 2519

kampoon boontawee 06

หลังจากนั้นนิยายเรื่อง "นักเลงตราควาย" ได้รับการตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวัน ในปีระหว่างปี 2522-2523 และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา นับแต่นั้นเป็นต้นมาคุณลุงคำพูน บุญทวี ได้สร้างสรรค์ผลงานเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี หรือนิทานพื้นบ้าน ตลอดมา

ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิต หลังจาก นางประพิศ ณ พัทลุง ภรรยาคนแรกได้เสียชีวิต คุณคำพูน บุญทวี จึงได้ใช้ชีวิตคู่กับ คุณลันนา เจริญสิทธิชัย หรือ “กิมหลั่น” เจ้าของสาระนิยาย “เจ๊กบ้านนอก” พร้อมกับก่อตั้ง สำนักพิมพ์โป๊ยเซียนบ้านบางบัวทอง นนทบุรี เพื่อพิมพ์หนังสือของครอบครัว จนถึงช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต คุณคำพูน บุญทวี ได้สิ้นลมหายใจลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 รวมอายุได้ 74 ปี

kampoon boontawee 08

ปราณี อนุอัน นักศึกษาระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคาแหง ได้ศึกษาผลงานของ คำพูน บุญทวี เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต เรื่อง “ภูมิปัญญาไทยอีสานที่ปรากฏในวรรณกรรมของนายคำพูน บุญทวี” เพื่อเสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2545 ได้กล่าวถึง นวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ไว้ว่า

...นวนิยายเรื่องลูกอีสาน เป็นการนำเอาเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พบเห็น ถ่ายทอดในรูปแบบของนวนิยาย ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยผ่านเด็กชายคูน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นชนบทอีสาน ที่จัดได้ว่าเป็นถิ่นที่แห้งแล้งแห่งหนึ่งของไทย ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็กชายคูน และเพื่อนในละแวกนั้น ไม่มีความแตกต่างกันนัก นั่นคือความยากจนข้นแค้น ต้องหาอาหารตามธรรมชาติ กินทุกอย่างที่กินได้ ผู้เขียนได้เล่าถึง ขบธรรมเนียมประเพณี และสภาพแวดล้อม เช่น การเกี้ยวพาราสีกัน การออกไปจับจิ้งหรีด การเดินทางไปหาปลาที่ลำชี เพื่อนำปลามาทำอาหารและเก็บถนอมไว้กินนานๆ ด้วยการทำปลาร้า เป็นต้น...

 

ลูกอีสาน ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ด้วยภาพที่ตรงไปตรงมา และแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสาน ว่าต้องเผชิญกับความยากลำบากเพียงไรการเรียนรู้ที่จะอดทนเพื่อเอาชนะกับความยากแค้นตามธรรมชาติด้วยความบากบั่นความเอื้ออารีที่มีให้กันในหมู่บ้าน ความเคารพในระบบอาวุโส...”

ลันนำ เจริญสิทธิชัย, ๒๕๔๖ :๑๗๒ - ๑๗๓

ในขณะเดียวกัน ชื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ได้กล่าวถึงนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี ซึ่งเป็นนวนิยายซีไรซ์เรื่องแรก จัดเป็นนวนิยายแนวสะท้อนชีวิตชนบทไว้บางตอนว่า

...เพราะเป็นเรื่องของครอบครัวชาวอีสาน ที่ต้องผจญกับควำมแห้งแล้งของภูมิประเทศแถบตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ชีวิตอันยากลำบาก ทำให้ชาวอีสานจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นไปแสวงหาดินแดนที่ “ดินดำน้ำชุ่ม” แต่ครอบครัวของคูนปักหลักอยู่กับแผ่นดินถิ่นเกิดของตน ด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธา ลูกอีสาน จึงสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ของมนุษย์กับธรรมชาติทางกายภาพ คือ ความแห้งแล้ง ความยากลำบาก และธรรมชาติในจิตใจ คือ ความดิ้นรน ความปรารถนาถึงความสุขสบาย นวนิยายเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นลูกอีสานที่แท้จริงคือ ความมานะ อดทน เรียนรู้ที่จะทนอยู่กับความยากลำบาก นอกจากนี้ยังเป็นนวนิยายที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวอีสานอย่างละเอียด จนใช้อ้างอิงในข้อมูลที่เกี่ยวกับภาคอีสานด้วย... ”

วิพุธ โสภวงศ์, ๒๕๔๗:๔๗ – ๔๘

เกียรติยศแห่งชีวิตนักเขียนบ้านทรายมูล

  • นิยาย “ลูกอีสาน” ได้รับรางวัล "วรรณกรรมดีเด่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2519 ได้รับรางวัล "วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน (ซีไรต์)" ปี 2522 คัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับการแปลภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส สร้างเป็นภาพยนตร์ โดย ครูวิจิตร คุณาวุฒิ
  • นิยาย “นายฮ้อยทมิฬ” ได้รับ "รางวัลชมเชย งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2520 ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
  • วรรณกรรมเยาวชน “สัตว์พูดได้” ได้รับเกียรติบัตรยกย่องจาก ชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม เมื่อ 5 มิถุนายน 2534 และกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาให้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
  • ได้รับการยกย่องให้เป็นนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ ในการจัดงานช่อการะเกด ครั้งที่ 7 ที่สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 และจัดทำ "มุมหนังสือคำพูน บุญทวี" ที่ห้องสมุดสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อเป็นที่ศึกษาค้นคว้าสำหรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจ
  • วันที่ 7 ธันวาคม 2543 สภาวัฒนธรรมอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร จัดงานเชิดชูเกียรติ "72 ปี ซีไรต์ลูกอีสาน" จัดกิจกรรมเสวนาทางวรรณกรรม บริจาคหนังสือคำพูน บุญทวี ให้กับห้องสมุดโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร
  • เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2544 สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้พิจารณาประกาศเชิดชูเกียรติ เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2544

kampoon boontawee 10

ผลงานที่ตีพิมพ์รวมเล่ม : เรื่องสั้น นมอีเขียวขึ้นราคา, หมาหอนในหัวใจ, ลาครูไปขอเมีย, หอมกลิ่นบาทา, หอมกลิ่นปลาร้า, ลาบหัวเราะ, ลูกทุ่งเข้ากรุง, ใหญ่ก็ตายไม่ใหญ่ก็ตาย, เสือกเกิดมารวย, รวยต้องไหว้หมา, ไอ้โจร 499, ลาบกิ่งก่า พล่าปลาอีตู๋, แม่ม่ายที่รัก, พยาบาลที่รัก, นักเลงลูกทุ่ง, ผจญภัยทุ่งกุลาร้องไห้, ตารางบันเทิง, นักเลงลูกทุ่ง

ไมตรี ลิมปิชาติ นักเขียนชื่อดังได้กล่าวถึง คำพูน บุญทวี ไว้ตอนหนึ่งว่า

...ผมชอบและเคารพที่นายคำพูน บุญทวี เป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ จะทำอะไรก็ทำแบบซื่อๆ พี่พูนไม่ได้ซื่อโดยนิสัยอย่างเดียว งานเขียนก็ออกมาซื่อๆ เหมือนกัน และนี่คือ เสน่ห์ตัวหนังสือของพี่พูน... ”

ไมตรี ลิมปิชาติ “แด่พี่ผู้จากไป” ในลันนา เจริญสิทธิชัย, ๒๕๔๖ : ๗๖

ในขณะเดียวกัน ในความเป็นคนซื่อก็ทำให้งานเขียนของ คำพูน บุญทวี มีเสน่ห์และมีค่าดังที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2534 ได้กล่าว ไว้บางตอนว่า

...ผมมีความเห็นว่า งานประพันธ์ของนายคำพูน บุญทวี มีค่าและเสน่ห์เพราะว่า
๑) เขาเขียนอย่างหนักแน่น แม่นยำจากความรู้จริง
๒) การเขียนด้วยภาษาของคนซื่อ
๓) เรื่องที่เขาเขียน อ่านแล้วจำได้อีกนาน... ”

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2546 นายคำพูน บุญทวี ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน รวมอายุได้ อายุ 74 ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

kampoon boontawee 07

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม พ่อเมืองยโสธร และคุณลันนา เจริญสิทธิชัย เปิด ศาลาศูนย์วรรณกรรมยโสธร "คำพูน บุญทวี" นักเขียนซีไรต์คนแรกของประเทศไทย ศาลาหลังนี้จะเปิดบริการ 10.00-18.00 น. ไม่มีระบบยืมและคืนหนังสือ หายไม่เป็นไร เพราะถือว่าคนอยากอ่าน ณ บริเวณ ลานวิมานพยาแถน (หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์พยาคันคากและอาคารพิพิธภัณฑ์พยานาค) อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

 

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ เรื่อง ลูกอีสาน

 

 

ลำล่องอิสานรำพัน ลำล่องในภาพยนตร์เรื่อง "ลูกอีสาน"
เพชร เมืองทอง : ลำ สุรินทร์ ภาคศิริ : เขียนกลอน

 

ข้อมูลจาก https://www.isangate.com/new/15-art-culture/artist/632-kampoon-boontawee.html

ภาพประกอบ