nfe.mahachanachai@gmail.com

045-799007

 

พระราชประวัติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

 กศน. อำเภอค้อวัง   01-04-2566 
พระราชประวัติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  2086


พระราชประวัติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี
สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

                   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์

             

                   ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐

                   เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

                    สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาในระดับประถมศึกษาจนทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐานพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้น ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ต่อมา ทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก และปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบาลี-สันสกฤตตามลำดับ ด้วยความสนพระทัยในการศึกษาและการพัฒนา ทรงศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์

                    ในด้านการทรงรับราชการ ทรงเข้าปฏิบัติหน้าที่อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงดำรงพระยศพลเอก ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ และทรงเกษียณอายุราชการในพุทธศักราช ๒๕๕๘

 

                   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้ใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาอย่างยิ่ง ทรงศึกษาอยู่ตลอดเวลา นอกจากวิชาการด้านอักษรศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ยังทรงเลือกศึกษาวิชาการด้านอื่นๆ อีกหลายด้านที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ สังคมและเศรษฐกิจ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง แผนที่ โภชนาการ เป็นต้น และทรงนำความรู้จากวิชาการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนและความเป็นอยู่ของราษฎร

                   นอกเหนือจากพระราชภารกิจในหน้าที่ราชการ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ครอบคลุมงานสำคัญๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมืองเกือบทุกด้าน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสานต่อจากพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมาย ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตามที่ทรงได้รับมอบหมาย เช่น การพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าฯ การพระราชทานปริญญาบัตร การถวายผ้าพระกฐิน การเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น

                   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจัดตั้งโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ในชนบท โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ทรงเห็นว่าเด็กจะเรียนหนังสือไม่ได้ถ้าท้องหิวหรือเจ็บป่วย จึงทรงริเริ่มโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ก่อสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ศูนย์การเรียนชุมชนสำหรับชาวไทยภูเขา ห้องเรียนเคลื่อนที่ ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าตอบแทนครูผู้สอน และทรงจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนพระราชทาน เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม จะได้มีความสามารถในการพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ในอนาคต ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริอย่างใกล้ชิด และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในโครงการด้วยพระองค์เองเสมอ

 

                   จากการที่มีประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล หรือสมทบทุนดำเนินงานโครงการพัฒนาต่างๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกองทุน “ทุนการกุศลสมเด็จพระเทพฯ” เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่นๆ

                   นอกเหนือจากงานพัฒนา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยในงานศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่า ควรจะมีการถ่ายทอดงานด้านวัฒนธรรมไปสู่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาอบรม ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เรียนรู้ ตระหนักความสำคัญ รักและผูกพันในศิลปวัฒนธรรมของชาติ สามารถสืบทอดเพื่อการอนุรักษ์และอาจพัฒนาเป็นอาชีพได้ ทรงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทย

  

                   พระราชจริยาวัตรที่ประชาชนทั่วไปได้เห็นประจักษ์ คือ พระเมตตาและความเอาพระทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปณิธานที่จะช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก เดือดร้อนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา พสกนิกรต่างยกย่อง และชื่นชมในพระบารมี ดังนั้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองในด้านต่างๆ มาโดยตลอด จึงมีบุคคล หน่วยงาน สมาคม และองค์กรต่างๆ ทั้งในราชอาณาจักรและในต่างประเทศ ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามาภิไธย และขอพระราชทานนามไปเป็นชื่อพรรณพืชและสัตว์ที่ค้นพบใหม่ในโลก รวมทั้งสถานที่และสิ่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นสิริมงคลสืบไป นอกจากนี้ ยังได้ทรงพระกรุณารับสมาคม สถาบัน และองค์กรต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ หรือที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่ทรงให้การสนับสนุน ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ไว้ในพระราชูปถัมภ์ ทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมสำคัญๆ อยู่เสมอ

                   ยามที่ทรงว่างจากพระราชกิจ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยทรงมีงานอดิเรกที่ทรงสนพระทัยหลายประเภท เช่น ดนตรี งานศิลป์ กีฬา งานสะสม การทัศนศึกษา การอ่านและสะสมหนังสือ ทรงมีหอสมุดส่วนพระองค์ที่จัดเก็บหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งที่ทรงเลือกซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย และดังเช่นเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเรียงร้อยอักษร จึงทรงพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งประเภทบทความ เรื่องสั้น ความเรียง คำนำ บทกวี บทเพลง เรื่องแปล และสารคดี เป็นต้น รวมทั้งพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือน “บันทึกการเดินทาง” ที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน

                   ในปัจจุบัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษาและวิชาการต่างๆ อยู่มิได้ขาด เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น พระปรีชาสามารถด้านภาษาเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทรงศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อทรงรับความรู้ใหม่ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ

ภาพประกอบ