Kick Off “สูงวัย ใจสมาร์ท”
นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2565 ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ประมาณ 12,241,542 คน (ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2565) ซึ่งย่อมส่งผลกระทบในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 95 มีโรคประจำตัว ภาครัฐต้องใช้งบประมาณการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุจำนวนมาก ด้านเศรษฐกิจ มีผู้สูงอายุร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าความยากจน ต้องรับการเลี้ยงดู ด้านสภาพแวดล้อมและด้านสังคม ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียวหรืออยู่ลำพังกับคู่สมรส มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ดังนั้นหากไม่เกิดการขับเคลื่อนไปในทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล ปัญหาต่างๆ ยังคงเดิมเหมือน และในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่เผชิญอุปสรรคความยากลำบากในมิติต่างๆ มากขึ้นตามจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบบริการและกิจกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ โดยการ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
นายวัลลพ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับจากปี 2565 ต่อไปอีก 17 ปีหรือในปี 2582 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งท้าทายที่ต้องดำเนินการว่าผู้สูงอายุไทยต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อพร้อมสู่สังคมสูงวัยในระดับสุดยอด ได้แก่ สุขภาพดีทั้งกายและใจ มีหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต และมีส่วนร่วมและมีคุณค่าทางสังคม ดังนั้น สำนักงาน กศน.มุ่งเน้นจัดการศึกษาตลอดชีวิตในลักษณะของการเชื่อมโยง หนุนเสริม และต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้สูงอายุ ด้วยการออกแบบการจัดการศึกษา ตลอดชีวิตในมิติของ กศน. ตามโครงการ “การจัดและส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ” จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตให้กับผู้สูงอายุ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพกายและใจ มิติเศรษฐกิจ การสร้างรายได้และการออม มิติสภาพแวดล้อม การสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และมิติสังคม การสร้างชุมชนสังคมอบอุ่น ปลอดภัยและการใช้เทคโนโลยีเบื้องต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี สามารถดูแลสุขภาพและช่วยเหลือตนเองได้
ที่มา สมัครด่วน.com