-

093-320-2566

 

๑๕ มิถุนายน วันไข้เลือดออกอาเซียน

 กศน. อำเภอป่าติ้ว   15-06-2564 
๑๕ มิถุนายน วันไข้เลือดออกอาเซียน  1959


15 มิถุนายน วันไข้เลือดออกอาเซียน ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน ไข้เลือดออกอาเซียนครั้งที่ 6 “ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ปัญหาของโรคไข้เลือดออกไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคเขตร้อนชื้น เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีปัญหาเช่นกัน ดังนั้น ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บูรไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา จึงมีมติร่วมกันกำหนดให้ทุกวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” เพื่อร่วมมือรณรงค์ไปด้วยกัน โดยในปี 2559 นี้ ประเด็นหลักในการรณรงค์ คือ “ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และทุกภาคส่วน ให้มุ่งเน้นวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยตนเองโดยการดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลาย แพทย์หญิงศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน ปี 2559 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ภายใต้ คำขวัญ “ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เชิญผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมงานประชุมเพื่อนำองค์ความรู้ไปเป็นข้อมูลประกอบสำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกต่อไป โดยกิจกรรมในงานวันไข้เลือดออกอาเซียนครั้งที่ 6 จะประกอบด้วย การประชุมสมาชิกจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ และผู้ บริหารในภูมิภาคเอเชีย และนานาชาติที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรม แชงกรี-ล่า กรุงเทพมหานคร และจัดกิจกรรมรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน โดยมีคำขวัญวันรณรงค์ ว่า Community Empowerment A Sustainable Success to Fight Dengue “ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ในวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงศศิธร เผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกจากข้อมูลสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรครายงานตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 16 พฤษภาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 17,170 คน เสีย ชีวิต 14 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี รองลงมา คือ อายุ 5-9 ปี อายุ 15-24 ปี อายุ 0-4 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด มีรายงานผู้ป่วยในปี พ.ศ.2559 พบว่า จังหวัดร้อยเอ็ด มีอัตราป่วยสูงที่สุด จำนวนผู้ป่วย 377 ราย รองลงมาได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จำนวนผู้ป่วย 258 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดมหาสารคาม จำนวนผู้ป่วย 219 ราย และจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนผู้ป่วย 190 ราย ตามลำดับ สถานการณ์โดยรวมผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยปีนี้ยังมี ความรุนแรง และจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝน เพราะน้ำฝนที่ขังนิ่งอยู่ในภาชนะต่างๆคือแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นอย่างดี และประชาชนไม่ให้ความสำคัญต่อการกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ที่อยู่ใกล้ ตัว แพทย์หญิงศศิธร กล่าวต่ออีกว่า ประชาชนต้องให้ความสำคัญในการดูแลสภาพแวดล้อมใกล้ตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้มาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุง เกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็ก เล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ สำหรับมาตรการ 3 เก็บ เป็นมาตรการรับมือยุงลายที่ง่าย และมีประสิทธิภาพสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อตัดตอนวงจรชีวิตของยุงลายได้ เพราะการกำจัดลูกน้ำ เป็นการหยุดแพร่ขยายพันธุ์ยังลายเป็นการแก้ไข ปัญหาจากที่ต้นเหตุ ดีกว่ามารักษาเมื่อต้องป่วยเป็นไข้เลือดออก หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422  แหล่งข้อมูล : สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค

เผยแพร่ : งานประชาสัมพันธ์ กศน.อำเภอป่าติ้ว ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โทรศัพท์ 0 4579 5286 

ภาพประกอบ